หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าโครงสร้าง Pre-engineered building (PEB) นั้นดียังไง??
วันนี้จะมาลองเทียบน้ำหนักของโครงสร้างแบบทั่วไปเทียบกับโครงสร้าง PEB ให้ดูอย่างง่ายๆสำหรับโครงสร้างโรงงานที่มีหลังคาเป็นแบบ truss นะครับ
โดยสมมติว่าเราเลือกขนาดของโครงสร้างที่มีขนาด span = 18 ม. Bay width = 5 ม. Eave height = 6 ม. (ตามรูปที่ 1) เพราะฉะนั้นเราจะได้น้ำหนักของ truss ตัวนี้ คือ 5.3 kg/m2 หมายความว่าน้ำหนักของ truss ตัวนี้คือ WT = 533 kg (ตามรูปที่ 2)
จากนั้นให้ไปเลือกขนาดของ truss แต่ละ member จากตาราง truss member size (ตามรูปที่ 3) ซึ่งจะเป็นตารางบอกขนาดของ member ในแต่ละตัวที่เป็นรหัส P1-P23 โดย P1-P23 นั้นจะถูกอธิบายไว้แล้วว่าเป็นท่อเหล็กรูปพรรณที่มีขนาดหน้าตัดเท่าไหร่ ในตาราง Pipe section (ตามรูปที่ 4)
และต่อมา ที่ขนาดของโครงสร้างเดียวกัน เราจะได้ขนาดของเสา และขนาดของแผ่นเหล็กรองใต้เสา (Base plate) (จากรูปที่ 5) ก็คือ เสาขนาด P18 และ Base plate ขนาด 350 x 350 mm. จากนั้นเราก็ย้อนกลับไปดู Pipe section (รูปที่ 3) อีกรอบ เราก็จะได้เสากลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ 165.2 mm. ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับ 17.8 kg/m และเมื่อเสามีความสูงที่ 6 ม. น้ำหนักของเสา 1 ท่อนจะได้เท่ากับ 17.8 x 6 = 106.8 kg ต่อเสา 1 ตัว และเมื่อเรามีเสา 2 ตัว ก็จะได้น้ำหนักที่ประมาณ 213.6 kg
ดังนั้น เราก็นำน้ำหนักของ truss และเสามารวมกัน ก็จะได้น้ำหนักของโครงสร้าง 1 span ซึ่งมีค่าเท่ากับ 533 + 213.6 เท่ากับ 746.6 kg คิดเป็นน้ำหนักต่อตารางเมตรจาก Total weight/(Span x Bay width) = 746.6/(18 x 5) = 8.30 kg/m2 และจะได้ภาพตัดรายละเอียดของโครงสร้างตามรูปที่ 4
สำหรับน้ำหนักของโครงสร้างแบบ PEB ถ้ามีโอกาสเราจะมานำเสนอในครั้งถัดไปลองคิดกันในครั้งหน้านะครับ แต่รับรองว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนแน่นอน
แต่ข้อดีอื่น ๆ ของ PEB นอกเหนือจากต้นทุนค่าก่อสร้าง มันมีอะไรบ้าง ก็แจกแจงมาได้ ดังแสดงด้านล่างนะครับ
- เวลาในงานก่อสร้าง (Construction Time) : โดยปกติโครงสร้างอาคารที่เป็น PEB จะใช้เวลาก่อสร้างระหว่าง 6 – 8 สัปดาห์ หลังจากแบบก่อสร้างได้รับการอนุมัติ ดังนั้น PEB จะช่วยลดเวลาโดยรวมในงานก่อสร้างลงได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เจ้าของสามารถประกอบธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น และมีรายรับที่รวดเร็วขึ้น
- มีความยืดหยุ่นในการขยายและต่อเติม (Flexibility of Expansion) : การขยับขยายโครงการในทางยาวสามารถทำได้โดยการกำหนดเพิ่ม bays ซึ่งในทางเดียวกันการขยายความกว้างและความสูงก็สามารถทำได้แต่จะต้องมีการออกแบบสำหรับการขยายตัวในอนาคตไว้ด้วยตั้งแต่เริ่มก่อสร้างครั้งแรก
- ระยะห่างระหว่างเสากว้าง (Large Clear Span) : ตัวอาคารโครงสร้างสามารถมีระยะห่างระหว่างเสาถึงเสา (span length) ได้ถึง 90 เมตร ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประโยชน์หลักของ PEB ที่ช่วยให้บริเวณพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น
- การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) : เนื่องจากชิ้นส่วนของอาคารถูกสร้างขึ้นจากโรงงานที่มีมาตรการควบคุมคุณภาพทั้งหมด ทำให้สามารถมั่นใจในคุณภาพของชิ้นส่วนที่นำมาประกอบและติดตั้งเพื่อทำโครงสร้างอาคาร
- การบำรุงรักษาน้อยลง (Low Maintenance) : การเคลือบสีของชิ้นส่วนอาคาร PEB สามารถทำได้ง่ายกว่าอาคารโครงถัก (truss system) ที่มีชิ้นส่วนจำนวนมาก ทั้ง top chord – bottom chord – diagonal – vertical – connection ทำให้สามารถดำเนินการทาสีได้ง่าย การควบคุมคุณภาพสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลงเนื่องจากสมรรถนะที่เป็นไปตามที่ผู้ออกแบบต้องการ
- การก่อสร้าง (Erection) : ชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กสำเร็จแบบแยกชิ้นส่วนจากโรงงานจะถูกขนส่งไปที่ไซต์งานเพื่อมาประกอบติดตั้งในสถานที่อย่างสะดวก (Completely Knocked Down Condition) ทำให้ไม่ต้องมีการตัดและเชื่อมชิ้นส่วนต่างๆ ที่หน้างาน ซึ่งทำให้การทำงานเกิดความสะดวกรวดเร็ว และนอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติของ PEB ที่มีความเบากว่าโครงสร้างเหล็กปกติ ทำให้สามารถติดตั้งได้ง่ายโดยการใช้สลักเกลียวและเครน นำไปสู่การก่อสร้างที่มีความรวดเร็วมาก และช่วยลดการใช้คน และวัสดุที่มากเกินความจำเป็น