Bolting

โดยปกติแล้วโครงสร้าง PEB จะประกอบ และติดตั้งด้วยการใช้สลักเกลียว (Bolt) นะครับ เพราะฉะนั้นมาพูดถึงเรื่องมาตรฐานในบ้านเรากันสักนิดครับ

ทราบกันไหมครับ ว่า มอก. บ้านเราไม่ได้มีการทำมาตรฐานของบ้านเราขึ้นมาเอง แต่ มอก. บ้านเราใช้การ “แนบ” มาตรฐาน bolt ของ ISO มาอ้างอิงเป็นมาตรฐาน มอก. แบบที่เรียกว่า “เหมือนกันทุกประการ หรือ identical” กันเลยทีเดียว

ทำไม มอก. ถึงทำเช่นนี้ … ให้คาดเดา คงเป็นไปได้ว่า
– สินค้าพวกนี้ ต้องมีมาตรฐานมารองรับ เพราะเป็นสินค้าที่ต้องการการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค 
– ด้วยบ้านเรา ยังไม่เคยมีการจัดทำมาตรฐานมาก่อน หากจะทำเป็นมาตรฐาน ต้องมีการดำเนินการในสายงานวิชาการ มีการทำประชาพิจารณ์ มีการยกร่าง และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา (ทำให้เป็นทางการ ตามขั้นตอน) ซึ่งต้องใช้เวลา และงบประมาณค่อนข้างสูง
– แต่ถ้าจะอ้างอิงมาตรฐานเมืองนอก เช่น ISO หรือ ASTM เลยนั้น ผู้ผลิตก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอ (จ้าง) ให้เจ้าหน้าที่ ISO / ASTM เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น … เพื่อให้เกิดความสะดวก ลดขั้นตอนการดำเนินการ และให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงได้มีแนวทาง “identically copy” แล้วใช้ใบปะหน้า มอก. มาเป็นหมายเลขมาตรฐานกันก่อนครับ

>>> เอาว่า เวลาเราสั่ง bolt เราก็เลือก bolt ตามที่เราต้องการ จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ละกันนะครับ ผู้ผลิตกลุ่มนี้ เขาจะออก mill certificate ให้ว่า เป็น “ISO / ASTM เทียบเท่า” บางรายผลิต ISO / ASTM สำหรับงานส่งนอกอยู่แล้ว คุณภาพที่ใช้ว่า “เทียบเท่า” ก็เพื่อจะบอกว่า lot ที่ผลิตนี้ เราผลิตตาม ISO / ASTM จริง ๆ นะ แต่แค่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ISO / ASTM เข้ามาตรวจสอบ ชักตัวอย่าง เพื่อรับรองคุณภาพ แต่เขา (ตัวโรงงาน) รับรองเอง … ไม่งั้นก็ “เสี่ยงเอาละกันนะครับ ^_^!”
…………………………………………………………………..
สำหรับ bolt ที่พวกเราถนัด พอมีความรู้ความเข้าใจ ก็เป็น bolt ตามมาตรฐาน ASTM ด้วยเหตุที่ อาจารย์ที่สอนวิศวกรรมพวกเรา เขาก็เอาตำราจากอเมริกามาสอนเป็นหลัก … ก็ไม่ผิดนะครับ และก็ขออ้างอิง ASTM ซะเลยละกัน

Reference: Bolt สำหรับงานโครงสร้าง อ้างอิง “Specification for Structural Joints using High-Strength Bolts” ฉบับล่าสุดปี 2009 โดย สถาบันวิจัยที่มีชื่อว่า RCSC หรือ Research Council on Structural Connections โดย AISC ก็อ้างอิงมาตรฐานดังกล่าวนี้ครับ

Grade: สำหรับ High-Strength Bolt จะมีอยู่ 2 เกรดด้วยกัน คือ ASTM A325 (Fu = 120 ksi) และ A490 (Fu = 150 ksi) อันนี้ เป็นค่า tensile strength ของวัสดุนะครับ โดยหากนำไปใช้ในแต่ละกรณี ก็จะมีการลดทอนกำลังกันไป ตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น
– ค่า Factor of Safety หรือ Resistance Reduction Factor
– Bolt รับแรงประเภทใด แรงดึง หรือ แรงเฉือน และ เป็นแรง fatigue หรือ non fatigue load
– ตำแหน่งร่องเกลียว (thread) กับ แนวระนาบรับแรงเฉือน หรือ shear plane เป็น X-type หรือ N-type
– ลักษณะการขัน ว่า ขันแน่นพอดี ขันแน่นพิเศษ หรือ มีการทำพื้นผิว ให้ถ่ายแรงเฉือน จากการขันให้แน่น ผ่านผิวสัมผัส … snug tighten หรือ tension control หรือ slip critical